เป็นที่ทราบกันดีว่าการก่อสร้างอาคารสูง หรือที่อยู่อาศัย มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปริมาณมาก ส่งผลกระทบโดยตรงในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น มลพิษทางน้ำ ทางอากาศ ขยะ รวมทั้งการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้การก่อสร้างอาคารสูงยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมหาศาล หากเราเปรียบเทียบปริมาณการใช้พลังงาน หรือพิจารณาการปลดปล่อยอุณหภูมิโดยรอบบริเวณอาคารสูง หรือชุมชน กับบริเวณที่มีอาคารน้อยกว่าและมีการปลูกต้นไม้โดยรอบมากกว่าดังรูปที่ 1 จะพบว่าบริเวณอาคารสูงหรือบริเวณที่มีอาคารหนาแน่นมาก อุณหภูมิโดยรอบบริเวณนั้นจะสูงขึ้นและมากกว่าบริเวณที่มีความหนาแน่นของอาคารน้อยกว่า จากผลดังกล่าวจึงมีหลายหน่วยงานให้ความสำคัญและตระหนักถึงเรื่องการลดการใช้พลังงาน รวมถึงใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมในการสร้างอาคารมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการจัดการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
รูปที่ 1 แสดงการปลดปล่อยอุณหภูมิโดยรอบบริเวณอาคารต่างๆ
ในปัจจุบันการก่อสร้างอาคาร ได้นำหลักการของ “Green Concept” ที่ว่าด้วยเรื่องการจัดการ การอนุรักษ์การใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบอาคารมากขึ้น นอกจาก Green Concept แล้วเชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินหรือทราบข้อมูลเกี่ยวกับ กระแสอาคารเขียว หรือ Green Building มาบ้าง ซึ่งกระแสดังกล่าวนี้มีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่นักออกแบบได้ตระหนักว่าการก่อสร้างอาคารแต่ละอาคาร ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จึงได้มีการออกแบบและพยายามสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น และในปี พ.ศ. 2513 เซอร์นอร์แมน ฟอสเตอร์ และเร็นโซ เปียโน ได้ออกแบบอาคารโดยใช้แสงธรรมชาติเป็นส่วนให้แสงสว่างแทนการใช้ไฟฟ้า และใช้ระบบการระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพ ต่อมาจึงเกิดเป็นข้อกำหนดหรือ มาตรฐานการสร้างอาคารในประเทศสหรัฐอเมริกา และมีการพัฒนาแบบประเมินอาคารที่เรียกว่า LEED หรือ Leadership in Energy & Environmental Design ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางการออกแบบและประเมินอาคารเขียว ในขั้นต้น ซึ่งจะมีการพิจารณาเกณฑ์การประเมินในหัวข้อหลักๆ รวม 6 หัวข้อ ดังนี้
- การพัฒนาสถานที่ตั้งโครงการอย่างยั่งยืน (Sustainable Site)
- ระบบสุขาภิบาลที่มีประสิทธิภาพ (Water Efficiency)
- พลังงานและชั้นบรรยากาศ (Energy and Atmosphere)
- การเลือกใช้วัสดุและทรัพยากร (Materials and Resources)
- สภาวะแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environment Quality)
- การออกแบบนวัตกรรม (Innovation and Design Process)
สำหรับประเทศไทยนั้น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามได้ร่วมกันจัดตั้ง “สถาบันอาคารเขียว” และจัดทำร่างหลักเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นได้ใช้ต้นแบบมาจาก LEED ที่เป็นหลักเกณฑ์อาคารเขียวของสภาอาคารเขียวของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเกณฑ์การประเมินนั้น จะเริ่มตั้งแต่การออกแบบโครงการ ตลอดช่วงของการก่อสร้าง ที่ตั้งอาคาร ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาว่าที่ตั้งของอาคารส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยาหรือไม่ การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจะต้องประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อม มีแสงสว่างเพียงพอกับความต้องการ วัสดุประกอบที่ใช้ในการก่อสร้างต้องไม่ปล่อยสารพิษ เช่น พรม หรือ สี จะต้องไม่มีสารระเหยที่เป็นอันตราย รวมถึงต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถสรุปประเด็นหลักของการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับอาคารเขียว ได้ในรูปที่ 2
รูปที่ 2 แสดงการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับอาคารเขียว
โดยมีอาคาร Energy complex ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของกระทรวงพลังงาน เป็นอาคารแห่งแรกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน อาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ประเภท Core & Shell Version 2.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด (Platinum) ตามเกณฑ์ของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) จากสภาอาคารเขียว ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2554 โดยอาคารดังกล่าวเป็นต้นแบบของอาคารยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์พลังงาน ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนับเป็นอาคารแห่งแรกของไทยและแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับรางวัลนี้
การจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับอาคารเขียว ระบุให้มีการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในงานระบบความร้อน ระบบระบายอากาศ ระบบปรับอากาศ และระบบทำความเย็น (Heating Ventilation Air Condition and Refrigerator (HVAC&R)) ของอาคารเขียว การเลือกใช้ฉนวนความร้อนสำหรับหุ้มท่อต่าง ๆ อาจจะต้องพิจารณาเลือกฉนวนความร้อนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยปัจจุบันสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ให้การรับรองผลิตภัณฑ์ฉลากเขียวกับฉนวนความร้อนประเภทฉนวนยางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้ที่ http://www.tei.or.th ในหมวดฉลากเขียว หัวข้อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม แล้วฉนวนความร้อนประเภทฉนวนยางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน
ฉนวนความร้อนประเภทฉนวนยางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ?
ฉนวนความร้อนประเภทฉนวนยางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น จะเป็นฉนวนความร้อนที่มีคุณสมบัติต่าง ๆ ผ่านตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดฉลากเขียวฉนวนกันความร้อน: ฉนวนยาง (TGL-14/2-R1-11) ในทุกข้อกำหนด นอกจากนี้ต้องมีสารประกอบฮาโลเจนเป็นองค์ประกอบไม่เกินร้อยละ 0.5 โดยน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ และอนุญาตให้มีสารประกอบไนโตรซามีนตกค้างในผลิตภัณฑ์ได้ไม่เกิน 0.01 ppm ทุกคนคงสงสัยว่าทำไมต้องจำกัดปริมาณสารประกอบฮาโลเจนและสารประกอบไนโตรซามีน แล้วสารฮาโลเจนคืออะไร มีโทษอย่างไร บทความฉบับบนี้มีคำตอบ
“ฮาโลเจน (Halogen)” เป็นชื่อเรียกธาตุในหมู่ 7 ในตารางธาตุ ประกอบด้วย ฟลูออรีน (F), คลอรีน (Cl), โบรมีน (Br), ไอโอดีน(I) และ แอสตาติน (At) พบมากในรูปเกลือโลหะ หรือ สารประกอบที่เรียกกันว่า “ฮาไลด์” โดยคลอรีน และ โบรมีน ส่วนใหญ่เป็นสารที่ละลายน้ำได้ง่าย เป็นสารกันไฟที่นิยมใช้ในการผลิตฉนวนความร้อนประเภทฉนวนยาง โดยทำหน้าที่ในการหน่วงการติดไฟ และลดควัน ช่วยทำให้วัสดุมีความปลอดภัยจากเพลิงไหม้มากขึ้น ฮาโลเจน ที่ใช้ มีประโยชน์ในด้านหนึ่ง แต่การสลายตัวของวัสดุที่มีส่วนผสมของ Halogen หรือ Halocarbon ในกองเพลิง มักจะทำให้เกิดการก่อตัวของควันพิษของสารประกอบฮาไลด์ ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง ยิ่งไปกว่านั้นการใช้สารกันไฟที่มีฮาโลเจนเป็นองค์ประกอบจำนวนมาก จะเป็นตัวกำเนิดสารไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และหากนำฉนวนยางที่หมดอายุไปเผาทำลาย ฉนวนยางบางประเภทที่มีการใช้สารเร่งบางกลุ่มที่สามารถปลดปล่อยสารประกอบเอ็น-ไนโตรโซออกมาได้ จะทำให้เกิดสารไนโตรซามีน ซึ่งสารไนโตรซามีนเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งตับ ไต หลอดอาหาร และระบบทางเดินหายใจ จากทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเป็นเหตุผลสำคัญในการจำกัดปริมาณสารประกอบฮาโลเจนและสารประกอบไนโตรซามีน ดังนั้นการเลือกใช้ฉนวนความร้อนยางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับอาคารเขียวจึงมีความสำคัญ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากขึ้นนั่นเอง.